Skip to content

ไรฝุ่น เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมากอยู่ปะปนกับฝุ่นภายในบ้าน จะกินผิวหนังของมนุษย์ที่ถูกผลัดออกมาเป็นอาหาร คนที่แพ้ไรฝุ่น เมื่อหายใจเอาอากาศที่มีไรฝุ่นเข้าไปอาจกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ขึ้นในระบบทางเดินหายใจได้ โดยไรฝุ่นที่พบได้บ่อยและก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ มี 2 ชนิด คือ Dermatophagoides pteronyssinus (DP) และ Dermatophagoides farinae (DF)

10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับไรฝุ่น

  1. ไรฝุ่น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้
  2. โรคหอบหืดในประเทศไทยมีสาเหตุมาจากการแพ้สารภูมิแพ้ชนิดไรฝุ่น
  3. ร่างกายของเรา ได้รับสารก่อภูมิแพ้จากตัวไรฝุ่น โดยการสูดดมมูลของตัวไร
  4. อาการของโรคภูมิแพ้ลดลงหากหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ โดยเฉพาะตัวไรฝุ่น
  5. ไรฝุ่นอยู่ในกลุ่มเดียวกับแมงมุม ตัวหิด และเห็บ
  6. โปรตีนที่อยู่ในสิ่งปฏิกูลและเปลือกหรือซากของไรฝุ่น เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้
  7. ตัวไรฝุ่นจะปล่อยสิ่งปฏิกูลวันละประมาณ 4 ชิ้น
  8. ขณะที่เรานอนหลับ เมื่อมีการพลิกตัว ตัวไรและสิ่งปฏิกูลของมันจะกระจายฟุ้งขึ้นมาในอากาศ และลอยอยู่ได้ประมาณ 2 ชั่วโมง
  9. ในประเทศไทยพบว่า ที่นอนตามบ้านเรือนส่วนใหญ่ มีสารแพ้จากไรฝุ่นสูงเกิน 2 ไมโครกรัมในฝุ่น 1 กรัม แทบทั้งสิ้น
  10. ที่นอนฟูกหนาๆ ไม่แนะนำให้ตากแดด ไรฝุ่นจะหนีความร้อนจากด้านบนไปสะสมอยู่ด้านล่างและสารภูมิแพ้เป็นโปรตีนที่สามารถทนความร้อนได้สูงถึง 100 องศาเซลเซียส

การวินิจฉัยอาการของโรคภูมิแพ้ไรฝุ่น  โดยแพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ร่วมกับดูอาการของโรค หากสงสัยว่าเป็นโรคภูมิแพ้ไรฝุ่น อาจตรวจเพิ่มเติมโดยการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Prick Test, SPT) หรือการเจาะเลือดตรวจภูมิจำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้ (Specific IgE Blood Test)

การรักษาโรคภูมิแพ้ไรฝุ่น ทำได้โดย

1. จัดการที่ต้นเหตุ คือ กำจัดตัวไรฝุ่น

  • ทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ โดยแนะนำให้ใช้เครื่องดูดฝุ่นเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่น
  • ใช้เครื่องกรองอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศ ชนิด HEPA filter
  • หลีกเลี่ยงการนำสัตว์เลี้ยงเข้าห้องนอน
  • ควรซักทำความสะอาดเครื่องนอนด้วยน้ำร้อนประมาณ 60 องซาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 30 นาที อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อฆ่าไรฝุ่น
  • ควรนำเครื่องนอนออกตากแดดจัดๆ ทุกสัปดาห์ อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที
  • ผลิตภัณฑ์เครื่องนอนควรทำมาจากผ้ากันไรฝุ่น หรือผ้าที่มีเส้นใยถี่แน่น มีรูห่างของผ้าทอเล็กมาก ซึ่งสามารถลดการเล็ดลอดของไรฝุ่นออกมาได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้พรม เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมของไรฝุ่น

2. รักษาโดยการใช้ยา เช่น

  • ยาแก้แพ้ (Antihistamines) เพื่อลดอาการคันจมูก น้ำมูกไหล ผื่นแพ้
  • ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก (Nasal corticosteroids) เพื่อลดอาการบวมในโพรงจมูก ลดอาการคัดจมูก
  • ยาสเตียรอยด์ชนิดทา (Topical corticosteroids) เพื่อลดอาการคัน อาการอักเสบบริเวณผิวหนัง โดยความแรงที่ใช้จะแตกต่างกันไปตามบริเวณที่เป็น
  • ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน (Oral corticosteroids) กรณีที่มีอาการแพ้รุนแรง
  • ยาฆ่าเชื้อ (Antibiotics) กรณีที่มีการติดเชื้อร่วมด้วย
click ที่นี่