Skip to content

รู้จริงเรื่องโบท็อกซ์

โบท็อกซ์ เป็นชื่อทางการค้าที่คนทั่วไปรู้จักกัน หรือชื่อทางการแพทย์นั้นก็คือโบทูลินั่มท็อกซินเป็นหนึ่งในสารที่มีการใช้ในทางศัลยกรรมความงามอย่างมาก botulinum toxin type A เป็นสารที่ถูกใช้อย่างมาก เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและได้รับการอนุมัติสำหรับวัตถุประสงค์ด้านความงาม 
          ผลิตภัณฑ์โบทูลินั่มท็อกซิน ชนิด A ทางยุโรปและอเมริกา  ที่มีการใช้ในท้องตลาด เช่น Onabotulinumtoxin (Botox; Allergan Inc.), Abobotulinumtoxin (Dysport; Ipsen Ltd.), Incobotulinumtoxin (Xeomin; Merz) เป็นต้น 
          ผลิตภัณฑ์โบทูลินั่มท็อกซิน ชนิด A แบรนด์อื่นๆ ที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาในเกาหลีใต้ ได้แก่ Botulax, Nabota, Liztox และ Wondertox, Babitox เป็นต้น 
          มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ botulinum toxin type B คือ Rimabotulinumtoxin B (Myobloc; Solstice Neurosciences Inc., หรือที่เรียกว่า NeuroBloc) 
          ในปี 1977 โบทูลินั่มท็อกซินมีการใช้ในทางคลินิกครั้งแรกเพื่อรักษาอาการตาเหล่ โบทูลินั่มท็อกซิน Onabotulinumtoxin A (Botox) เป็นสารที่ได้รับการอนุมัติให้จำหน่ายในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในปี 2545 และเน้นทำการตลาดที่เกี่ยวกับรอยย่นระหว่างคิ้ว โบทูลินั่มท็อกซินถูกใช้ทางการแพทย์ในการรักษาความผิดปกติเกี่ยวกับมดลูก, ความผิดปกติทางระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะไวเกิน ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่, สภาวะผิดปกติบางอย่างเกี่ยวกับผิวหนัง การรักษาอาการปวด myofascial pain syndrome โดยพบว่าโรคหรืออาการที่ต้องรักษาด้วยโบทูลินั่มท็อกซิน ส่วนใหญ่จะมีอาการเรื้อรัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงต้องฉีดซ้ำๆ จึงเกิดความทนหรือดื้อต่อโบทูลินั่มท็อกซินได้ง่ายจึงส่งผลให้การรักษาล้มเหลวได้

โบทูลินั่มท็อกซิน คืออะไร ออกฤทธิ์ยังไง
          โบทูลินั่มท็อกซิน เป็นสารโปรตีนจากเชื้อ Clostridium botulinum ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ไม่ใช้ออกซิเจน ซึ่งแบ่งออกเป็น 8 Serotypes คือ A, B, C1, C2, D, E, F และ G พบว่า serotype A เป็นสารที่มีฤทธิ์สูงที่สุด รองมาคือ serotype B และ F อย่างไรก็ตาม โบทูลินั่ม ท็อกซินที่อยู่ในท้องตลาดจะมีเฉพาะ Type A และ  B
          โบทูลินั่มท็อกซินออกฤทธิ์โดยการยับยั้งสารสื่อประสาท Acetylcholine ที่ปลายประสาท กล้ามเนื้อ และระบบประสาทอัตโนมัติ parasympathetic ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงลง จึงมีการนำมาใช้ลดการทำงานของกล้ามเนื้อเรียบที่ทำงานมากเกินไปและรวมถึงต่อมที่ทำงานผิดปกติ
          โครงสร้างโบทูลินั่มท็อกซินเฉพาะส่วนที่ออกฤทธิ์มีขนาด 150 kD แต่โบทูลินั่มท็อกซินอาจเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับโปรตีนทำให้มีขนาดโครงสร้างประมาณ 900 kD พบว่าเฉพาะส่วนของแกนกลางของโบทูลินั่มท็อกซินเท่านั้นที่มีฤทธิ์ทางการรักษา โครงสร้างอื่น ๆ ที่เข้ามาประกอบเป็นสารเชิงซ้อนนั้นไม่ได้มีฤทธิ์ ดังนั้นจึงมีการสังเคราะห์ส่วนแกนกลางเป็นสายโพลิเมอร์ของโบทูลินั่มท็อกซินเพื่อมาใช้ทางการแพทย์
โปรตีนที่เกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับโบทูลินั่มท็อกซินประกอบด้วย Hemagglutinin, non-toxic protein และ non-hemagglutinin protein ซึ่ง Hemagglutinin protein มี 3 ชนิด ย่อย ๆ คือ HA1, HA2 และ HA3 ซึ่ง HA1 เป็น              โปรตีนเชิงซ้อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและเป็นโปรตีนที่ก่อให้เกิดภูมิต้านทานต่อโบทูลินั่มท็อกซิน
          แท้จริงแล้วผลิตภัณฑ์โบทูลินั่มท็อกซินในท้องตลาดเป็น serotype เดียวกัน แต่เนื่องจากกรรมวิธีการผลิตที่แตกต่างกันจึงทำให้โบทูลินั่มท็อกซินแต่ละยี่ห้อมีองค์ประกอบ และการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับโปรตีนที่แตกต่างกัน เป็นที่มาว่าทำไมโบทูลินั่มท็อกซินแต่ละยี่ห้อจึงมีรูปร่างและขนาดโมเลกุลที่แตกต่างกัน 
          Xeomin เป็นโบทูลินั่มท็อกซินที่ไม่ใช่สารประกอบเชิงซ้อนกับโปรตีน ซึ่งแตกต่างจาก Allergan และ Dysport อย่างไรก็ตาม โบทูลินั่มท็อกซิน ทั้ง 3 ยี่ห้อไม่แตกต่างกันในเรื่องความสามารถในการแพร่เข้าสู่เนื้อเยื่อเนื่องจากโบทูลินั่มท็อกซินยี่ห้อ Allergan และ Dysport จะปลดปล่อยโปรตีนเชิงซ้อนออกมาเมื่อได้รับการผสมกับน้ำเกลือ พบว่าโบทูลินั่มท็อกซินทั้ง 3 ยี่ห้อจะมีความแตกต่างกันในเรื่องของการเหนี่ยวนำปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันในร่างกาย

โปรตีนเชิงซ้อนของโบทูลินั่มท็อกซิน
          แม้ว่าโปรตีนที่เกาะกับแกนของโบทูลินั่มท็อกซินจะไม่มีฤทธิ์ทางการรักษา พบว่าโปรตีนเหล่านี้ช่วยให้ส่วนออกฤทธิ์ของโบทูลินั่มท็อกซินมีความเสถียร ช่วยคงสภาพของโบทูลินั่มท็อกซินในขณะที่ยังไม่ถูกผสม และช่วยให้โบทูลินั่มท็อกซินจับกับกล้ามเนื้อได้ดีขึ้นเมื่อทำการฉีด 
          อย่างไรก็ตามแม้ Xeomin จะไม่มีการโปรตีนเชิงซ้อนแต่ก็พบว่าสามารถเก็บรักษาได้ยาวนาน และในการศึกษาการแพร่ของโบทูลินั่มท็อกซิน ชนิด A ในท้องตลาด (แบรนด์ทางยุโรปและอเมริกา) พบว่าการแพร่โบทูลินั่มท็อกซินเข้าสู่กล้ามเนื้อแต่ละยี่ห้อไม่มีความแตกต่างกัน

ภูมิต้านทานกับโปรตีนเชิงซ้อนโบทูลินั่มท็อกซิน
          โปรตีนเชิงซ้อนของโบทูลินั่มท็อกซิน มีคุณสมบัติเป็น antigen มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกาย ทำให้เกิดการสร้าง antibody ต่อต้านฤทธิ์ของโบทูลินั่มท็อกซิน ฤทธิ์ในการลบล้างโบทูลินั่มท็อกซินนี้ขึ้นกับปริมาณโปรตีน ยิ่งโปรตีนเชิงซ้อนของโบทูลินั่มท็อกซินมาก ก็ยิ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านในร่างกายมาก ซึ่งเป็นสาเหตุให้การรักษาไม่ได้ผล
          นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการดื้อโบท็อกซ์ เช่น ระยะห่างของการฉีดโบทูลินั่มท็อกซินแต่ละครั้ง ปริมาณโบทูลินั่มท็อกซินที่สะสมในเนื้อเยื่อ ประวัติการฉีด ยี่ห้อโบทูลินั่มท็อกซินที่ใช้
          เมื่อมีการเปรียบเทียบโบทูลินั่มท็อกซิน ชนิด A (Botox, Dysport, Xeomin) พบว่า Dysport ก่อให้เกิดปฏิกิริยาการต้านฤทธิ์โบทูลินั่มท็อกซินมากที่สุด ขณะที่ Botox ก่อให้เกิดปฏิกิริยาการต่อต้านในร่างกายน้อยที่สุด แต่บางการศึกษาแสดงให้เห็นว่า Xeomin ไม่ได้กระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิต่อต้านโบทูลินั่มท็อกซินทั้งในคนและสัตว์ทดลอง อย่างไรก็ตามพบว่าบางการศึกษาที่เกี่ยวกับการดื้อโบทูลินั่มท็อกซินได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัทผู้ผลิตโบทูลินั่มท็อกซินจึงจำเป็นต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านและศึกษาข้อมูล
          การต่อต้านโบทูลินั่มท็อกซินมีความจำเพาะต่อชนิดของโบทูลินั่มท็อกซิน อย่างไรก็ตามมีการทดลองใช้โบทูลินั่มท็อกซิน ชนิด B ฉีดให้กับผู้ที่มีประวัติดื้อต่อโบทูลินั่มท็อกซิน ชนิด A พบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะตอบสนองต่อการรักษาในช่วงแรก แต่ผู้ป่วยกลุ่มจะล้มเหลวต่อการรักษาในท้ายที่สุด พบว่าปฏิกิริยาการดื้อข้ามชนิดของโบทูลินั่มท็อกซินจะเร่งให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านของภูมิคุ้มกันอย่างรวดเร็ว

ฉีดอย่างไรให้เกิดการดื้อช้าที่สุด
1.  เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีความบริสุทธิ์สูง เพื่อลดการสร้างของ Antibody ที่มาต้านฤทธิ์ของโบทูลินั่มท็อกซิน
2.  ควรใช้ปริมาณโบทูลินั่มท็อกซินที่น้อยที่สุดที่ได้ผลในการรักษา เพื่อให้ร่างการสร้างภูมิมาต่อต้านลดลง
3.  หลีกเลี่ยงการฉีดโบทูลินั่มท็อกซินบ่อย ๆ อย่างน้อยควรมีระยะห่างของการฉีดแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 3 เดือน

อ้างอิง

1. Frevert J. Pharmaceutical, biological, and clinical properties of botulinum neurotoxin type A products. Drugs R D 2015. Mar:15(1):1-9. Doi: 10.1007/s40268-014-0077-1.

2.  Nigam PK., Nigam A. Botulinum toxin. Indian J Dermatol 2010. Jan-Mar;55(1): 8-14. Doi: 10.4103/0019-5154.60343.

3.  รศ. นพ. วินัย วนานุกูล. โบทูลินั่ม แอนตี้ท็อกซิน. ยาต้านพิษ2 หน้า 11-16.

4.  Wee SY., Park ES. Immunogenicity of botulinum toxin. Arch Plast Surg 2022. Jan;49(1):12-8. Doi: 10.5999/aps.2021.00766

5.  Frevert J., Dressler D. Complexing protein in botulinum toxin type A drugs: a help or a hindrance?2010. Dec;4:325-32. Doi: 10.2147/BTT.S14902

6.  Rahman E., MBBS MS., et al. Immunogenicity to botulinum toxin type A: a systematic review with meta-analysis across therapeutic indications. Aesthetic surgery2022. Jan;42:106-120.