Skip to content

ผมร่วงเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยแม้จะเป็นธรรมชาติของร่างกายที่ผมบางส่วนจะร่วงตามวัฏจักรการเจริญเติบโตของเส้นผม แต่การผมร่วงมากเกินไปอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงปัญหาสุขภาพที่ซ่อนอยู่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นใจและคุณภาพชีวิตได้
จากข้อมูลของ American Academy of Dermatology (AAD) ระบุว่า โดยปกติคนทั่วไปจะมีผมร่วงเฉลี่ย 100 เส้นต่อวัน

นอกจากนี้สถิติจากองค์การสุขภาพโลก (WHO) ระบุว่า ปัญหาผมร่วงเป็นปัญหาที่พบมากในคนอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยผู้ชายจะมีโอกาสประสบปัญหาผมร่วงมากกว่าผู้หญิง

เข้าใจวัฏจักรของผมก่อน
     เส้นผมของคนมีวัฏจักรที่แบ่งออกเป็นสามระยะหลัก ๆ คือ ระยะการเจริญเติบโต (Anagen phase), ระยะหยุดเจริญเติบโต (Catagen phase), และระยะพัก (Telogen phase) แต่ละระยะมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตและการหลุดร่วงของเส้นผม

1. ระยะการเจริญเติบโต (Anagen phase):  ระยะเวลา 2-6 ปี
เป็นระยะที่เส้นผมเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ โดยเซลล์รูขุมขนจะมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วและสร้างเส้นผมใหม่ขึ้นมา โดยเฉลี่ยเส้นผมจะยาวขึ้น 1 เซนติเมตรต่อเดือนจำนวนเส้นผมประมาณ 85-90% ของเส้นผมทั้งหมดอยู่ในระยะนี้

2. ระยะหยุดเจริญเติบโต (Catagen phase):  ระยะเวลา 2-3 สัปดาห์
เป็นระยะที่รูขุมขนหยุดการเจริญเติบโต และมีการหดตัวของรูขุมขน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เตรียมความพร้อมสำหรับระยะพักจำนวนเส้นผมประมาณ 1-2% ของเส้นผมทั้งหมดอยู่ในระยะนี้

3. ระยะพัก (Telogen phase):  ระยะเวลา 2-3 เดือนเป็นระยะที่เส้นผมหยุดการเจริญเติบโตและเตรียมพร้อมสำหรับการหลุดร่วง รูขุมขนจะหยุดทำงานและเส้นผมที่อยู่ในระยะนี้จะหลุดร่วงเมื่อถูกแทนที่ด้วยเส้นผมใหม่
จำนวนเส้นผมประมาณ 10-15% ของเส้นผมทั้งหมดอยู่ในระยะนี้

     หลังจากเส้นผมในระยะพักหลุดร่วง วงจรชีวิตของเส้นผมก็จะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง โดยรูขุมขนจะเริ่มเข้าสู่ระยะการเจริญเติบโต และสร้างเส้นผมใหม่ขึ้นมา วงจรนี้จะเกิดขึ้นซ้ำๆ ตลอดชีวิต

สาเหตุของผมร่วง

1. พันธุกรรม เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด โดยมีลักษณะผมร่วงเป็นแพทเทิร์นทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ในผู้ชายมักเริ่มต้นด้วยการบางลงที่บริเวณหน้าผากและมงกุฎผม ในขณะที่ผู้หญิงมักจะมีผมบางลงทั่วทั้งศีรษะ

2. การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของผมร่วง โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนระหว่างการตั้งครรภ์ การคลอดลูก หรือช่วงวัยหมดประจำเดือน ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจทำให้ผมร่วงชั่วคราวหรือถาวรได้

3. อาหารและโภชนาการ การขาดสารอาหารบางชนิด เช่น โปรตีน วิตามิน C, D, และ E รวมถึงธาตุเหล็กและสังกะสี อาจเป็นสาเหตุของผมร่วงได้ การบริโภคอาหารที่ไม่เพียงพอหรือขาดสมดุลจะทำให้เส้นผมอ่อนแอและหลุดร่วงได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้การได้รับวิตามิน A ปริมาณสูงก็ทำให้ผมร่วงมากขึ้นด้วยเช่นกัน

4. ความเครียดและสภาวะจิตใจ สามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะผมร่วงชั่วคราวที่เรียกว่า Telogen Effluvium ซึ่งเป็นการหยุดการเจริญเติบโตของเส้นผมชั่วคราว นอกจากนี้ภาวะความเครียดยังสามารถทำให้เกิดพฤติกรรมการดึงเส้นผมเองที่เรียกว่า Trichotillomania ได้

5. การใช้ผลิตภัณฑ์เส้นผมที่มีสารเคมีแรง หรือการทำทรีตเมนต์เส้นผมบ่อยครั้ง เช่น การย้อมผม การดัดผม การยืดผม สามารถทำให้เส้นผมอ่อนแอและหลุดร่วงได้ง่ายขึ้น

6. การรักษาหรือยาบางชนิด เช่น การทำเคมีบำบัด การฉายรังสี รวมถึงการใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิต ยารักษาโรคหัวใจ และยาคุมกำเนิด อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดผมร่วงได้

…ผมร่วงขนาดไหนต้องไปหาคุณหมอ ?…

1. ผมร่วงอย่างรวดเร็วและมากเกินไป: ในช่วงเวลาสั้น ๆ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุ ผมร่วงเป็นกระจุก หรือมีเส้นผมตกหล่นมากกว่า 100 เส้นต่อวัน

2. ผมร่วงเป็นหย่อมหรือเป็นวงกลม: หรือบริเวณอื่นของร่างกาย อาจเป็นสัญญาณของภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

3. ศีรษะบางลงอย่างชัดเจน: เช่น ผู้ชายมีผมบางลงที่หน้าผากและมงกุฎผม หรือผู้หญิงมีผมบางลงทั่วทั้งศีรษะ

4. มีอาการอื่นร่วมด้วย: อาการคัน เจ็บ หรือบวมแดงที่หนังศีรษะ หรือผมร่วงร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น น้ำหนักลด อ่อนเพลีย หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

5. ผมร่วงหลังการใช้ยาหรือการรักษาทางการแพทย์: ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินและปรับการรักษา

การรักษาด้วยยา

Minoxidil:
ยาจะขยายหลอดเลือดทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น เพิ่มการส่งออกซิเจนและสารอาหารไปยังรูขุมขน ช่วยกระตุ้นให้รูขุมขนที่อยู่ในระยะพัก (Telogen phase) เข้าสู่ระยะการเจริญเติบโต (Anagen phase) เร็วขึ้น ยืดระยะเวลาที่เส้นผมอยู่ในระยะการเจริญเติบโต ทำให้ผมที่งอกขึ้นใหม่แข็งแรงและยาวขึ้น

Finasteride:
ยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 5-alpha-reductase ที่เปลี่ยนฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเป็นไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (DHT) ลดระดับ DHT ช่วยป้องกันการหดตัวของรูขุมขนและกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผมโดยยืดระยะเจริญเติบโตของเส้นผม (anagen phase) ทำให้เส้นผมมีการเจริญเติบโตนานขึ้นและลดระยะพัก (telogen phase)

*เนื่องจากยามีผลข้างเคียงต่อความดันหรือฮอร์โมนเพศ การรักษาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

การรับประทานอาหารเสริม

โปรตีนและกรดอะมิโน: เสริมสร้างความแข็งแรงของเส้นผม กระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผม การขาดโปรตีนและกรดอะมิโนจำเป็นทำให้ผมอ่อนแอขาดหลุดร่วงได้

วิตามินซี: ช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจนภายในเซลล์ผิวหนังและเส้นผม ซึ่งมีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างและป้องกันการหลุดร่วงของเส้นผม

วิตามินดี: วิตามินดีมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันและการสร้างเส้นผมใหม่โดยพบว่าการขาดวิตามินดีเป็นสาเหตุของผมหลุดร่วง

วิตามินอี: มีความสำคัญในการช่วยปกป้องเซลล์จากการเสื่อมสภาพและการทำลายของอนุมูลอิสระ ซึ่งสามารถช่วยลดการหลุดร่วงของเส้นผมได้

ธาตุเหล็ก: ธาตุเหล็กเป็นแร่ธาตุที่สำคัญในการสร้างโปรตีนและเซลล์เม็ดเลือดแดงซึ่งเป็นเซลล์สำคัญในการขนส่งออกซิเจนและพลังงานไปยังเซลล์ต่างๆของร่างกาย โดยพบว่าผู้ที่ขาดธาตุเหล็กจะทำให้ผมหลุดล่วงได้ โดยพบมากในเพศหญิงช่วงที่มีประจำเดือนร่างกายจะสูญเสียเลือดและต้องการธาตุเหล็กมากขึ้น

ธาตุสังกะสี: กระตุ้นการสร้างโปรตีนเคราตินทำให้ผมแข็งแรง ควบคุมความมันบนหนังศีรษะนอกจากนี้ยังต้านการอักเสบและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทำให้หนังศีรษะแข็งแรง นอกจากนี้ยังพบว่าผู้รับประทานมังสวิรัติมักจะรับประทานอาหารที่มีธาตุสังกะสีไม่เพียงพอซึ่งภาวะขาดธาตุสังกะสีเป็นหนึ่งในสาเหตุของผมร่วง

หญ้าหางม้า: มีสารสำคัญ คือ ซิลิกา ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างเส้นผม ช่วยเรื่องการเจริญเติบโตและยับยั้งการหลุดร่วงของเส้นผม

โสม: มีสารสำคัญ คือ Saponins และ Ginsenosides ซึ่งช่วยขยายหลอดเลือดให้เลือดไปเลี้ยงที่เส้นผมได้ดีขึ้น ช่วยสร้างเคราตินและเซลล์ผิวหนังทำให้หนังศีรษะแข็งแรง