Skip to content

วิธีลบเลือนฝ้า กระ จุดด่างดำ ให้ผิวกลับมาเนียนใส

ปัจจุบันทุกเพศทุกวัยหันมาใส่ใจในเรื่องของผิว และปัญหาที่พบบ่อยมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสีผิวไม่สม่ำเสมอ เป็นฝ้า กระ จุดด่างดำ ที่ถึงแม้จะไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพมากนักแต่ก็ทำให้หลายคนหมดความมั่นใจได้ เพราะบริเวณที่เกิดขึ้นมักเป็นจุดที่สามารถสังเกตได้ง่าย ทั้งบริเวณใบหน้า โหนกแก้ม และบริเวณอื่นๆ ดังนั้นอยากให้ผิวกลับมาเนียนใส มาดูกันว่าฝ้า กระ จุดด่างดำ มีความเหมือนและแตกต่างแค่ไหน พร้อมแนะนำวิธีการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ
🌼  ฝ้า(Melasma)
          เป็นความผิดปกติของการสร้างเม็ดสีชนิดหนึ่ง ทำให้มีลักษณะเป็นปื้นหรือจุดสีน้ำตาลบริเวณผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า โดยฝ้ามี 3 ชนิด ดังนี้
          •  ฝ้าแบบตื้น(Epidermal type) อยู่ในระดับผิวหนังกำพร้าหรือหนังชั้นนอก จะมีลักษณะเป็นสีน้ำตาล มักเห็นขอบเขตชัดเจน เกิดได้ง่าย
          •  ฝ้าแบบลึก(Dermal type) จะอยู่ในระดับที่ลึกกว่าหนังกำพร้า ให้สีที่เป็นน้ำตาลอมฟ้าหรืออมม่วง ขอบเขตของ ฝ้ามักไม่ชัดเจน
          •  ฝ้าชนิดผสม(Mixed type) เป็นชนิดที่พบได้มาก เกิดทั้งในระดับชั้นหนังกำพร้าและหนังแท้รวมกัน โดยตรงกลางมักมีสีเข้มแสดงถึงฝ้าในชั้นหนังแท้ ส่วนขอบมักมีสีจางกว่าแสดงถึงฝ้าในหนังกำพร้า
          ปัจจัยกระตุ้น ได้แก่ กรรมพันธุ์, การโดนแดด, ความไวต่อฮอร์โมน, การตั้งครรภ์ และบางกรณีอาจเกิดจากยาบางชนิด
🌼  กระ(Freckles)
         กระ  คือ  จุดสีดำหรือสีน้ำตาลที่มีขอบเขตชัดเจน ขนาดเล็ก มีทั้งแบบตุ่มนูนและเรียบ สาเหตุการเกิดกระคล้ายคลึงกับฝ้า คือ การทำงานของเซลล์เม็ดสีผิดปกติ พบมากในบริเวณใบหน้า มือ หลังแขน โดยกระจะมีด้วยกัน 4 ชนิด ดังนี้
          •  กระตื้น มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลเข้มมักเกิดจุดหลายขนาดเล็กๆ เห็นขอบเขตชัดเจน โดยเกิดขึ้นที่ผิวด้านนอกสามารถรักษาหายได้ง่าย
          •  กระลึก มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลอ่อนจางๆ จนไปถึงเทาหรือม่วง เห็นขอบไม่ชัด เนื่องจากเกิดขึ้นในชั้นผิวแท้จึงเห็นไม่ชัดเจนและใช้ระยะเวลารักษานานกว่ากระตื้น
          •  กระเนื้อ มีลักษณะเป็นเม็ดสีน้ำตาลเข้ม เป็นตุ่มนูนขึ้นหรือติ่งเล็กๆ มักเกิดเป็นเม็ดขนาดเล็กก่อนและค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้น เป็นกระที่จะต้องใช้หัตถการเลเซอร์ในการแก้ไขเท่านั้น และมีโอกาสกลับมาเป็นอีกครั้งได้
          •  กระแดด มีลักษณะเป็นจุดดวงสีน้ำตาล เกิดขึ้นจากแสงแดด ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่ถ้ามีภาวะที่มีกระแดดเกิดขึ้นใหม่ปริมาณมากแบบกะทันหันหรือเป็นกระเนื้อที่มีสีคล้ำมาก จะแยกยากกับมะเร็งผิวหนัง ควรที่จะต้องเข้าปรึกษาแพทย์ผิวหนังโดยเฉพาะ ปัจจัยกระตุ้น ได้แก่ กรรมพันธุ์, การโดนแดด

🌼  จุดด่างดำ(Dark Spot)
          รอยดำที่เกิดจากการอักเสบของผิว มักเกิดขึ้นจากการไปแกะสิวที่อักเสบทำให้ผิวอักเสบไปด้วย ซึ่งผิวบริเวณที่อักเสบจะเป็นสีน้ำตาลเข้มถึงดำ นอกจากนี้ตัวกระตุ้นที่สำคัญคือแสงแดดที่ทำให้รอยดำนั้นเด่นชัดขึ้น

🌼 กลไกหลักของการสร้างเม็ดสีผิว
          •  การส่งสัญญาณการผลิต – ปัจจัยทำร้ายผิวต่าง ๆ อาทิ รังสียูวี มลภาวะ รวมไปถึงการเกิดสิว เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบที่เซลล์ผิวชั้นบน จึงมีการส่งสัญญาณไปยังเมลาโนไซท์ ซึ่งเป็นเซลล์ในผิวชั้นอิพิเดอร์มิส ให้ผลิตเมลานินขึ้นเพื่อช่วยปกป้องผิวจากรังสี UV
          •  การผลิตเมลานิน – เซลล์เมลาโนไซท์เมื่อได้รับสัญญาณมาแล้ว ก็จะมีการกระตุ้นให้เกิดการผลิตเม็ดสีเมลานิน ผ่านการทำงานของเอนไซม์สำคัญที่ชื่อว่า ไทโรซิเนส
          •  การขนส่งเมลานิน – เมลานินจะถูกลำเลียงไปยังเซลล์ผิวชั้นบนผ่านแคปซูลที่ชื่อว่าเมลาโนโซม
          •  การผลัดเซลล์ผิว – ด้วยกลไกปกติของผิวเราจะมีการกำจัดเอาเซลล์ผิวที่ตายแล้ว รวมทั้งจุดด่างดำต่าง ๆ ให้หลุดลอกออกไปโดยรอบ

Melasma
กลไกการสร้างเม็ดสีผิว

🌼 วิธีการรักษาฝ้า กระ จุดด่างดำ หลายวิธี ดังนี้
1.หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นและการอักเสบ
          •  หลีกเลี่ยงแสงยูวีด้วยการทาครีมกันแดด โดยการทาครีมกันแดดต้องทาในปริมาณที่มากเพียงพอต่อการ ป้องกันแสงแดด โดยต้องทาอย่างน้อยเท่ากับ 2 มิลลิกรัมต่อตารางเซนติเมตร หรือประมาณ 1 ข้อนิ้วชี้สำหรับทาหน้าและคอ ซึ่งควรทาอย่างน้อย 2 รอบ ถึงจะเพียงพอต่อการปกป้องแสงแดด และ ควรทาครีมกันแดดก่อนออกแดดอย่างน้อย 30 นาที
          •  ผลิตภัณฑ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ อาทิ ชาเขียว, ใบบัวบก, คาโมมายล์, วิตามินบี 5
2. ยับยั้งการผลิตเมลานิน ด้วยการยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส
          •  ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของ Hydroquinone
          •  Vitamin A (Retinol, Retinaldehyde, Tretinoin)
          •  Alpha Arbutin
          •  Azelaic Acid
          •  Vitamin C
          •  Licorice Root Extract
          •  N-Acetyl Glucosamine
          •  Thiamidol
3.  ยับยั้งการขนส่งเมลานิน
          •  ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของ Niacinamide
          •  Vitamin A (Retinol, Retinaldehyde, Tretinoin)
4.  การผลัดเซลล์ผิว
          •  ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของ Alpha Hydroxy Acids(AHA) อาทิ Glycolic acid, Lactic acid
          •  Beta Hydroxy Acids(BHA) อาทิ Salicylic acid
          •  Poly Hydroxy Acids(PHA) อาทิ Lactobionic Acid
          •  Lipo Hydroxy Acids(LHA) อาทิ Lipo Hydroxy Acids
          •  Vitamin A (Retinol, Retinaldehyde, Tretinoin)
5.  การรักษาด้วยแสง
          การรักษาด้วยแสง อาทิ เลเซอร์ IPL (Intense Pulsed Light), Q-switched Nd:YAG laser, Q-switched ruby laser
6.  การรักษาด้วยยา
          ยารับประทานบางชนิด อาทิ ยา Tranexamic acid ซึ่งจะยับยั้งการผลิตเม็ดสี ผ่านทาง กลไกการยับยั้ง plasminogen/plasmin pathway ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นกระบวนการหลักที่เกี่ยวข้องกับ การแข็งตัวของเลือด จากการศึกษาพบว่า ยาสามารถทำาให้ ฝ้าจางลงได้ แต่ฝ้ามักกลับมาเป็นซ้ำหลังหยุดยา

🌼 การป้องกันฝ้า กระ จุดด่างดำ มีวิธีดังนี้
          •  หลีกเลี่ยงการออกแดดจัด และ ใช้ครีมกันแดด ที่เหมาะสมในปริมาณที่เพียงพอ
          •  รับประทานอาหารที่มีวิตามินซี: วิตามินซีช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดเลือนฝ้า กระ จุดด่างดำ
          •  งดสูบบุหรี่: การสูบบุหรี่ทำให้เกิดริ้วรอยก่อนวัย กระตุ้นให้เซลล์สร้างเมลานินทำงานมากขึ้น
          •  นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ: การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายผลิตคอร์ติซอล ฮอร์โมนที่กระตุ้นให้เซลล์สร้างเมลานินทำงานมากขึ้น
          •  จัดการความเครียด: ความเครียดกระตุ้นให้ร่างกายผลิตคอร์ติซอล ฮอร์โมนที่กระตุ้นให้เซลล์สร้างเมลานินทำงานมากขึ้น

🌼 คำแนะนำ
          •  ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อหาสาเหตุของฝ้า กระ จุดด่างดำ และรับการรักษาที่เหมาะสม การรักษาที่ถูกวิธีอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ จะเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จของการรักษาได้
          •  ยาทาแต่ละชนิดมีผลข้างเคียงได้ การทายาที่ถูกวิธีในปริมาณที่เหมาะสมจึงมีผลต่อการประสบผลสำเร็จในการรักษาและลดผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นจึงควรศึกษาวิธีการทายาที่ถูกต้อง ก่อนการใช้ยาแต่ละชนิด กรณีมีคำาถามเรื่องการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร
          •  ควรทาครีมกันแดดทุกวัน
          •  ควรดูแลสุขภาพ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
          •  ควรงดสูบบุหรี่
          •  ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
          •  ควรจัดการความเครียด

เอกสารอ้างอิง
1. Ogbechie-Godec OA, Elbuluk N. Melasma: an Up-to-Date Comprehensive Review. Dermatology and Therapy [Internet]. 2017 Jul 19;7(3):305–18. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5574745/
2. สวัสดิพงษ์แพทย์หญิงจันทร์จิรา. ฝ้า (Melasma) [Internet]. สุวรรณเมฆนางศุภมาส, editor. สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ; 2562. Available from: www.inderm.co.th
3. KUCUK OS. Current Treatment Approaches for Melasma. Bezmialem Science. 2018 May 31;54–62.
4. Brown spots, lentigos and freckles | DermNet [Internet]. dermnetnz.org. Available from: https://dermnetnz.org/topics/brown-spots-and-freckles
5. Hatem S, El Hoffy NM, Elezaby RS, Nasr M, Kamel AO, Elkheshen SA. Background and different treatment modalities for melasma: Conventional and nanotechnology-based approaches. Journal of Drug Delivery Science and Technology. 2020 Dec;60:101984.
6. Obaid RJ, Mughal EU, Naeem N, Sadiq A, Alsantali RI, Jassas RS, et al. Natural and synthetic flavonoid derivatives as new potential tyrosinase inhibitors: a systematic review. RSC Advances. 2021;11(36):22159–98.