Skip to content

MCT Oil น้ำมันของคนรักสุขภาพ

MCT Oil หรือชื่อเต็มคือ Medium Chain Triglyceride เป็นกรดไขมันอิ่มตัวสายกลาง หรือ Medium-chain fatty acids (MCFA)⁠ ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดดีต่อสุขภาพไม่สะสมเป็นไขมันส่วนเกินในร่างกาย สามารถพบได้ในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม

MCT Oil เป็นกรดไขมันอิ่มตัวสายกลางที่มีจำนวนคาร์บอนสายโซ่ประมาณ 6-12 อะตอม ซึ่งมีความยาวน้อยกว่ากรดไขมันทั่วไป โดยความยาวที่น้อยกว่านี้ทำให้ MCT Oil มีความสามารถในการดูดซึมและย่อยได้รวดเร็วกว่า สามารถถูกนำไปใช้เป็นพลังงานในร่างกายได้ทันที ไม่เกิดการสะสม

จำนวนอะตอมของคาร์บอนในกรดไขมันจะเป็นตัวกำหนดความสามารถในการพาเข้าสู่ร่างกายในกระบวนการสร้างพลังงาน ซึ่งยิ่งจำนวนสายโซ่สั้นเท่าไหร่ ก็จะมีความสามารถในการย่อยเพื่อสร้างพลังงานได้เร็วขึ้นเท่านั้น เนื่องจากความยาวสายโซ่ในน้ำมัน MCT Oil มีความยาวสั้นกว่ากรดไขมันอื่น จึงเป็นแหล่งในการสร้างพลังงานจากไขมันที่ร่างกายเราเลือกใช้ โดยในทั่วไปกรดไขมันที่เราพบใน MCT Oil จะมีอยู่ 4 ชนิดตามจำนวนคาร์บอนคือ C6, C8, C10, C12 ตามลำดับ

  • กรดลอริก (Lauric acid)

C12 หรือ กรดลอริก (Lauric acid) เป็นกรดไขมันชนิดอิ่มตัวที่มีจำนวนคาร์บอน 12 อะตอม มีลักษณะเหมือน LCT (Long Chain Triglyceride) คือ มีความสามารถในการย่อย และดูดซึมที่ช้า จึงไม่ค่อยเห็นกรดลอริกในผลิตภัณฑ์ที่ขายหรือในน้ำมัน MCT Oil

  • กรดคาพริก(Capric acid)

C10 หรือ กรดคาพริก (Capric acid) เป็นกรดไขมันชนิดอิ่มตัวที่มีจำนวนคาร์บอน 10 อะตอม กรดคาพริกเป็นกรดไขมันอิ่มตัวที่มีรูปแบบที่สั้นที่สุดอันดับสอง จึงใช้เวลาในการเปลี่ยนคีโตนนานขึ้นกว่ากรดไขมันชนิดอื่นก่อนหน้านี้เล็กน้อย

  • กรดคาไพรลิก (Caprylic acid)

C8 หรือ กรดคาไพรลิก (Caprylic acid) เป็นกรดไขมันชนิดอิ่มตัวที่มีจำนวนคาร์บอน 8 อะตอม ซึ่งเป็นตัวที่สามารถพบเห็นได้บ่อย อีกทั้งยังเป็น MCT Oil ที่ดีที่สุดในการทำหน้าที่ผลิตคีโตน และช่วยเร่งการเผาผลาญ สำหรับผู้ที่รับประทานคีโตหรือลดน้ำหนัก

  • กรดคาโพรอิก (Caproic acid)

C6 หรือ กรดคาโพรอิก (Caproic acid) เป็นกรดไขมันอิ่มตัวที่มีจำนวนคาร์บอน 6 อะตอม ซึ่งเป็นกรดที่มีจำนวนน้อยที่สุดเพียง 1% จึงไม่ค่อยมีความสำคัญในการช่วยลดน้ำหนัก มีกลิ่น และรสชาติที่ไม่ค่อยพึงประสงค์

ประโยชน์ของMCT Oil

* ช่วยให้อิ่มไว

MCT Oil มีผลต่อการควบคุมฮอร์โมน ลดฮอร์โมนความหิว และเพิ่มอัตราการหลังฮอร์โมน Peptide YY และฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ที่เป็นฮอร์โมนช่วยควบคุมความรู้สึกหิวในร่างกาย

* ช่วยเร่งกระบวนการคีโตซิสให้เร็วยิ่งขึ้น

MCT Oil จะมีกรดสำคัญที่ชื่อ กรดคาไพรลิก ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งพลังงาน และเป็นกรดไขมันสายที่สั้นที่สุด ทำให้กลายเป็นคีโตน ให้ร่างกายนำไปใช้เป็นพลังงานได้ทันที

* สามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้ทันที ไม่สะสมเป็นไขมันส่วนเกิน

MCT Oil สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ตับของเราได้โดยตรง โดยไม่ต้องพึ่งน้ำดีในการย่อยก่อนเพราะมีขนาดเล็กทำให้ดูดซึมได้ง่าย ร่างกายจึงสามารถนำไขมันนี้ไปใช้เป็นพลังงานได้อย่างรวดเร็ว และไม่สะสมทำให้เกิดไขมันส่วนเกิน สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี และช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลที่ดี ซึ่งส่งผลต่อการช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหรือโรคหัวใจได้

* ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและยีสต์

MCT Oil จะมีกรดสำคัญที่ชื่อ กรดคาพริก ซึ่งมีความสามารถในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และยีสต์ เช่น เชื้อราที่ทำให้เกิดโรคตามผิวหนังต่าง ๆ จากการทดลองในสัตว์ แต่การทดลองในคนนั้นยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัด

ขนาดการรับประทานที่แนะนำ

ปริมาณที่แนะนำต่อวันคือการรับประทานทีละน้อย โดยเริ่มจากครั้งละ 1 ช้อนช้า และเพิ่มถึงครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ โดยผสมกับชาหรือเครื่องดื่มอื่น การเริ่มรับประทานช่วงแรกปริมาณน้อย เนื่องจาก MCT Oil อาจมีฤทธิ์ทำให้ถ่ายท้องในบางรายได้  และไม่ควรรับประทาน MCT Oil เกินวันละ 2 ช้อนโต๊ะ เนื่องจากอาจจะส่งผลข้างเคียงได้ โดยพบว่า การรับประทาน MCT Oil วันละ 6 กรัม อาจจะทำให้ฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกหิวหรือ ฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin Hormone) มีความผิดปกติไปอาจจะไปกระตุ้นทำให้รู้สึกหิวมากกว่าเดิม

ควรรับประทาน MCT Oil ตอนที่ท้องว่าง หรือรับประทานก่อนอาหาร เพื่อตอนที่ท้องว่างร่างกายอยู่ในกระบวนการเผาผลาญไขมันเป็นพลังงาน หรือที่เรียกว่า คีโตสิส จึงทำให้ร่างกายมีการดูดซึมได้ดีกว่าหลังรับประทานอาหาร หรือเพื่อให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น แนะนำให้รับประทานก่อนออกกำลังกาย 10-15 นาที เพื่อเพิ่มการเผาผลาญไขมันสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก