Skip to content

     โรคยอดฮิตอันดับต้น ๆ ของไทยและทั่วโลก เชื่อว่าหนึ่งในนั้นต้องมีโรคความดันโลหิตสูง ถือเป็นโรคหรือภาวะที่เป็นภัยเงียบเนื่องจากไม่มีอาการแสดงออกให้เห็นชัดเจน ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวและมักจะปล่อยปะละเลย หากไม่ได้รับแก้ไขตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะอื่นที่มีความรุนแรงตามมาได้ อาทิเช่น โรคหลอดเลือดสมองที่จะทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจโตซึ่งมีโอกาสเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ หรือทำให้มีภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะซึ่งเป็นสัญญาณของโรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น  

     ปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความดันโลหิตสูงได้แก่พันธุกรรมและพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น การทานอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง การสูบบุหรี่ ภาวะอ้วน ขาดการออกกำลังกาย การดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียดสะสม พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น

     หากใครเคยได้รับประทานยาลดความดันโลหิตก็จะทราบดีว่า แพทย์มักจะสั่งยาให้รับประทานหลังอาหารเช้า ด้วยเหตุผลหนึ่งคือเพื่อความสะดวกและป้องกันการหลงลืมทานยา แต่ในความเป็นจริงแล้ว การรับประทานยาลดความดันโลหิตไม่จำเป็นต้องยึดติดกับมื้ออาหารเสมอไป 

     เมื่อปี 2020 มีข้อมูลจากผลการศึกษาในประเทศสเปนพบว่าการรับประทานยาลดความดันโลหิตในช่วงเวลาก่อนนอน มีประสิทธิภาพในการลดความดันโลหิตได้ดีกว่าการรับประทานยาในเวลาเช้าหรือกลางวัน นอกจากนั้นยังสามารถลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้มากกว่าอีกด้วย  ต้องชี้แจงก่อนงานวิจัยดังกล่าวยังมีข้อจำกัดอยู่มาก และไม่อาจการันตีได้ว่าทุกคนจะได้ผลการรักษาเหมือนกับผู้ป่วยในงานวิจัย  ยังมีปัจจัยอีกมากมายที่ส่งผลต่อระดับความดันโลหิตและการเกิดโรคแทรกซ้อนที่ไม่สามารถควบคุมได้ 

     ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่ทุกคนสามารถทำได้ทันทีก็คือการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ  นอกจากนี้ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งหากมีปัญหาหรือสงสัยเกี่ยวกับยาที่รับประทานอยู่ และแน่นอนว่าไม่ควรปรับเปลี่ยนวิธีการกินยาเอง เนื่องจากแพทย์อาจมีเหตุผลอื่นที่จำเป็นมากกว่า และแพทย์จะไม่สามารถประเมินผลการรักษาได้อย่างถูกต้อง รวมถึงการรับประทานยาลดความดันโลหิตและยาโรคเรื้อรังอื่น ๆ ควรเป็นไปอย่างต่อเนื่องและรับประทานให้ตรงเวลาในทุก ๆ วันเพื่อรักษาระดับยาในเลือดให้มีมากเพียงพอที่จะออกฤทธิ์ครอบคลุม 24 ชั่วโมง และหมั่นตรวจติดตามระดับความดันโลหิตอยู่เสมอเพื่อให้เห็นแนวโน้มว่าสามารถควบคุมความดันให้เป็นปกติได้หรือไม่