วิตามิน K จัดอยู่ในกลุ่มของวิตามินชนิดที่ละลายในไขมันเช่นเดียวกับวิตามิน A, D และ E วิตามิน K มาจากคำว่า coagulation (หรือKoagulation ในภาษาเยอรมันและเดนมาร์ก) ซึ่งหมายถึงความสามารถในการแข็งตัวของเลือดและมันใช้เวลานานเท่าไหร่ ภายหลังต่อมาพบว่ามีวิตามิน K มี2ชนิด คือ วิตามิน K1 (ไฟโลควินโนน,Phylloquinone)และ วิตามิน K2 (เมนาควิโนน,menaquinone) นอกจากนี้ยังมีวิตามิน K ที่ได้จากการสังเคราะห์คือวิตามิน K3 (เมนาไดโอน,Menadione) ซึ่งไม่ได้นำมาใช้เป็นอาหารเสริม
วิตามิน K1 และ K2 ต่างกันอย่างไร และมีประโยชน์อย่างไรกับร่างกายบ้าง
วิตามิน K1 พบได้ในผักใบเขียว เป็นวิตามินที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recycling) หน้าที่หลักคือ เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดการแข็งตัวที่เกล็ดเลือดในกรณีที่เกิดบาดแผล (Coagulation) ภายในตับ โดยมากแล้วจะอยู่ที่ตับเป็นส่วนใหญ่ วิตามิน K1 สามารถอยู่ในร่างกายได้ประมาณ 1.5 ชั่วโมง
วิตามิน K2 พบได้ในอาหารจากสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์, ตับ, ไข่, ผลิตภัณฑ์จากนม และยังพบได้ในผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองหมัก,ชีส และกะหล่ำปลีดอง (sauerkraut) ที่ผ่านกระบวนการหมัก สามารถพบการขาดวิตามิน K2 ได้ทั่วไป วิตามิน K2 มีหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดการแข็งตัวที่เกล็ดเลือดในกรณีที่เกิดบาดแผล (Coagulation) ทั้งภายในและนอกตับ มีส่วนช่วยในการรักษาระดับแคลเซียม ช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ กระตุ้นโปรตีนที่มีส่วนในการสร้างกระดูก นอกจากนี้ยังสามารถเสริมสร้างภูมิคุ้มกันได้อีกด้วย โดยวิตามิน K2 จะสามารถพบได้ในอวัยวะต่างๆภายนอกตับ วิตามิน K2 สามารถอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 72 ชั่วโมงเลยทีเดียว
วิตามิน K ถือเป็นวิตามินที่มีความสำคัญเนื่องจากทำงานร่วมกันกับวิตามิน D ในการเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก ลดความเสี่ยงการเกิดกระดูกหัก และยับยั้งการสะสมของแคลเซียมที่หลอดเลือด และเนื้อเยื่อต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของหินปูน (Vascular calcification, soft tissue calcification)
วิตามิน K2 กับประโยชน์ต่อกระดูก
มีการศึกษาพบว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงที่อายุ 50 ปีขึ้นไป และ 1 ใน 5 ของผู้ชายที่อายุ 50 ปีขึ้นไปพบปัญหาเกี่ยวกับกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน (Osteoporotic fractures) เนื่องจากอายุที่มากขึ้นทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง ในทางกลับกันก็สามารถสะสมแคลเซียมไว้ที่ส่วนต่างๆนอกกระดูกได้มากขึ้น
วิตามิน D จะทำหน้าที่ในการเหนี่ยวนำให้เกิดการสร้างฮอร์โมนชื่อ “ออสทีโอแคลซิน” (Osteocalcin) ที่อยู่ในออสทีโอบลาส (Osteoblast) ซึ่งเป็นเซลล์ชนิดหนึ่งที่ใช้ในการสร้างเนื้อกระดูก และอาศัย วิตามิน K2 ในการกระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนออสทีโอแคลซินให้ดูดซึมแคลเซียมเพื่อใช้ในการสร้างกระดูก เมื่อวิตามินทั้งสองตัวทำงานร่วมกันจึงมีการเสริมสร้างเนื้อกระดูกได้นั่นเอง
จากที่กล่าวมาข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า การรับประทานวิตามิน K2 + D3 จึงมีประโยชน์อย่างมากในการเสริมสร้างเนื้อกระดูก
วิตามิน K2 กับประโยชน์ต่อหัวใจ
สำหรับผู้รักในการดูแลสุขภาพ เมื่ออายุมากขึ้นอาหารเสริมอย่างนึงที่เป็นที่นิยม 1 ตัวเลือกหลักๆคงหนีไม่พ้น “แคลเซียม” ปฏิเสธไม่ได้ว่าแคลเซียมมีผลดีกับกระดูกเป็นอย่างมาก แต่ก็เลี่ยงที่จะพูดถึงความเสี่ยงที่แคลเซียมอาจไปสะสมอยู่ที่หลอดเลือดแดงไม่ได้เช่นกัน ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของโรคต่างๆอีกด้วยเช่น หัวใจขาดเลือด และโรคหัวใจชนิดอื่นๆตามมา มีการศึกษาหลายการศึกษาระบุว่าการรับประทานวิตามิน K2 สามารถป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ทั้งโรคหัวใจขาดเลือด (Myocardial infarction) และโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) เนื่องจากการทานรับประทานวิตามิน K2 สามารถเข้าไปลดการเกาะตัวของแคลเซียมที่หลอดเลือดแดงได้ จึงสามารถลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
วิตามิน K2 กับประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน
มีการศึกษาระบุว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะขาดวิตามิน K ตอนติดเชื้อโควิด-19 ระดับความรุนแรงของโรคมีความรุนแรงมากกว่าคนที่ร่างกายไม่ขาดวิตามิน K นอกเหนือจากเชื้อโควิด-19 แล้วในผู้ป่วยที่ติดเชื้ออื่นๆ เมื่อตรวจวัดระดับ IL-6 ที่เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการอักเสบในร่างกายก็สามารถตรวจพบในขนาดสูง ซึ่งหมายถึงเกิดการอักเสบในร่างกายมาก
วิตามิน K กับการแข็งตัวของเลือด
วิตามิน K ยังเป็นสารที่มีความจำเป็นในกระบวนการแข็งตัวของเลือดเพราะ วิตามิน K จำเป็นสำหรับการสร้างสารโปรทรอมบิน (prothrombin) และสารอื่นๆที่จำเป็นในการแข็งตัวของเลือดที่เรียกว่าเฟคเตอร์ VII, IX และ X
วิตามิน K กับ แบคทีเรียในลำไส้
ผักและผลไม้ที่ช่วยบำรุงแบคทีเรียชนิดที่ดีในลำไส้ส่วนใหญ่มีวิตามิน K1 มากกว่าวิตามิน K2 อย่างไรก็ตาม แบคทีเรียในลำไส้เหล่านี้ผลิต วิตามิน K2ได้ในปริมาณเพียงเล็กน้อยซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อาหารที่อุดมด้วยเส้นใยก็มีประโยชน์ต่อแบคทีเรียชนิดที่ดีของร่างกาย