Skip to content

สารพันปัญหา…พาราเป็นเหตุ

พาราเซตามอล (paracetamol) หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันสั้น ๆ ทั่วไปว่า “ยาพารา” เป็นยาที่สามารถจำหน่ายได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์  จัดเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีติดบ้านแทบทุกครัวเรือน เป็นยาสำหรับลดไข้ ทั้งไข้จากการติดเชื้อไวรัส และไข้ที่มาจากการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลางที่หาซื้อได้ง่าย ใช้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

และในช่วงนี้ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดเพิ่มสูงขึ้นเป็นหลายเท่าตัวนี้ ก็ยิ่งเพิ่มกระแสให้มีความต้องการหาซื้อยาพาราฯเพิ่มขึ้นไปอีกจากการแชร์ข้อมูลส่งต่อกันมากมายในโลกออนไลน์ เภสัชกรร้านยาที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างเราก็เลยได้ต้องพบกับความเข้าใจผิดแปลกๆของคุณลูกค้าที่แห่มาซื้อยาพาราฯ ทั้งตลก ทั้งน่างุนงง วันนี้เลยอยากจะมาแชร์ให้ฟังค่ะ เผื่อจะทำให้ช่วยปรับความเข้าใจที่ถูกต้อง และอาจทำให้ท่านอมยิ้มเล็กๆได้ค่ะ :))

เริ่มต้นจากตัวอย่างคำถามชวนสงสัย/ความเข้าใจผิดต่างๆ ที่พบบ่อยดังต่อไปนี้เลยค่ะ 

  • ยาพาราฯของแท้ต้องเป็นยี่ห้อพาราเซตามอลเท่านั้น!
  • ขอไทลินนอล (Tylenol) ค่ะ ยี่ห้ออื่นมันกัดกระเพาะ
  • นี่มันไม่ใช่ยาพาราฯนะ นี่มันยาซาร่า (Sara)
  • ขอยาพาราฯที่ดีที่สุดในร้าน
  • พาราฯที่ไหนกินวันละตั้ง 4 เวลา เยอะเกินไปรึเปล่า!?
  • ยี่ห้อนี้ใช่ยาพาราฯหรอ ไม่เอาดีกว่า ไม่เห็นรู้จักเลย
  • ยาพาราฯมีแต่ยี่ห้อไทลินอลไม่ใช่หรอ?
  • กินพาราฯไปนานๆเลยดีกว่า จะได้ป้องกันไข้ด้วย

ลูกค้าหลายๆท่านอาจจะเข้าใจผิดว่ายาพาราเซตามอล จำเป็นต้องชื่อยี่ห้อว่า Paracetamol เท่านั้น ซึ่งถือเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนะคะ เพราะจริงๆแล้ว Paracetamol คือชื่อยาสามัญ (Generic name) ซึ่งเป็นชื่อที่เป็นมาตรฐานของสารที่ออกฤทธ์ในตัวยานั้นๆ เมื่อเอ่ยชื่อสามัญนี้ทุกคนจะเข้าใจตรงกันว่าคือยาอะไร ดังนั้นในหนึ่งตัวยาจะมีชื่อสามัญเพียงชื่อเดียว แต่จะสามารถมีชื่อทางการค้า (Trade name) ได้หลายชื่อตามบริษัทที่ผลิต หรือพูดง่ายๆก็คือสามารถมีได้หลายยี่ห้อนั่นเอง อย่าง Paracetamol เอง ก็มีชื่อทางการค้ามากมาย เช่น TylenolⓇ, SaraⓇ, CemolⓇ, PanadolⓇ, ParacapⓇ BakamolⓇ, GPOⓇ, และอีกมากมาย โดยทุกตัวนั้นยังคงมีสารที่ออกฤทธิ์ตัวเดียวกันคือพาราเซตามอลนั่นเอง และโดยปกติยาชนิดนี้มักจะมีีขนาด 500 mg/เม็ด ดังนั้นไม่ว่ายี่ห้อไหนหากรับประทานได้อย่างถูกวิธีก็จะสามารถออกฤทธิ์ได้ดีพอๆกันเลยค่ะ ไม่มีตัวที่ดีที่สุดน้าา ยกเว้นแต่ว่าลูกค้าจะชอบยี่ห้อไหนเป็นพิเศษ อันนี้ถือเป็นความรู้สึกส่วนบุคคลเราไม่ว่ากันจ้า

การรับประทานยาพาราเซตามอลที่ถูกวิธี คือการรับประทานเมื่อมีอาการไข้ หรือปวด เช่น ปวดศีรษะ โดยควรรับประทานตามน้ำหนักตัวตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้

ในหนึ่งวันไม่ควรรับประทานเกิน 4,000 mg และไม่ควรกินติดต่อกันนานเกิน 5 วัน เพราะการรับประทานปริมาณมากเกินไป หรือติดต่อกันนานเกินไป อาจส่งผลให้เกิดโรคตับได้ รวมทั้งยังไม่มีคำแนะนำให้้ใช้ยาพาราฯนี้เพื่อป้องกันอาการไข้ หรืออาการปวดด้วยนะคะ  อีกข้อที่สำคัญคือการกินยาพาราเซตามอลแบบซ้ำซ้อนค่ะ เนื่องจากยาพาราฯนั้นสามารถไปเป็นส่วนผสมในยาชนิดอื่นๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น ยาลดไข้หวัดชนิดเม็ดบางยี่ห้อ เช่น Tiffy Dey, Decolgen Prin หรือยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น Norfesic ล้วนมียาพาราเป็นส่วนผสมอยู่ หากเรากินเหล่านี้ร่วมกับยาพาราเซตามอล ก็จะถือเป็นการกินยาซ้ำซ้อนได้ ตับต้องทำงานหนักเพื่อขับสารเหล่านี้ออกเพิ่ม ดังนั้นก่อนจะกินยาใดๆ ต้องอ่านฉลากให้ดีเพื่อป้องกันการกินยาซ้ำซ้อนด้วยนะคะ

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ และช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ทุกท่านนะคะ ด้วยความปรารถนาดีจากเภสัชกรประจำร้านยาที่ห่วงใยทุกท่านค่ะ^^