พรมมิ ผักมิ หรือชื่อวิทยาศาสตร์คือ Bacopa monnieri ปกติจะใช้รับประทานควบคู่กับการจิ้มน้ำพริก แต่ปัจจุบันเป็นพืชสมุนไพรที่ถูกจับตามองเพิ่มขึ้นในแง่ของการใช้เป็นยาบำรุงสมองและความจำ สรรพคุณตามตำรายาไทยใช้เป็นยาขับโลหิต แก้ไข้ ขับพิษร้อน ขับเสมหะ บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท และในตำราอายุรเวทของอินเดียใช้เป็นยาเพื่อช่วยฟื้นฟูความจำ และบำรุงสมอง
ประโยชน์ของพรมมิ
1. ช่วยบำรุงสมอง เพิ่มความจำ ในพรมมิมีสารสำคัญในกลุ่มอัลคาลอยด์ ที่ช่วยเพิ่มปริมาณเซลล์ประสาทคอลิเนอร์จิก (Cholinergic Neuron) ซึ่งทำหน้าที่ในการกระตุ้นสารสื่อประสาทแอซิติลโคลีน (Acetylcholine) ช่วยให้การทำงานของสารประสาทมีความต่อเนื่อง ช่วยให้การคิด การประมวลผล ความจำดีขึ้น
2. ยับยั้งการทำลายของเซลล์ประสาท พรมมิช่วยลดการทำงานของเอนไซม์แอซิติลโคลีนเอสเตอเรส (Acetylcholinesterase) ซึ่งเป็นอนุมูลอิสระที่จะเข้าไปทำลายเซลล์ประสาทและสมอง รวมทั้งสารบาโคไซด์ (Bacosides) ยังช่วยป้องกันการเกิด Lipid Peroxidation ในสมอง ลดการเสื่อมสภาพของเซลล์ประสาท และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้
3. ช่วยขยายหลอดเลือดในสมอง ทำให้การหมุนเวียนเลือดดีขึ้น ออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงสมองได้ดี ส่งผลให้เซลล์สมองแข็งแรงและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเรียนรู้ของสมองดีขึ้น
4. ช่วยบรรเทาความเครียด
ลดความวิตกกังวล เนื่องจากช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดความเครียด และวิตกกังวล
5. ช่วยลดการอักเสบ
มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งไซโตไคน์ (Cytokines) ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบหากมีการหลั่งไซโตไคน์ออกมามากเกินไปจะเรียกว่าพายุไซโตไคน์ (Cytokine Storm) ส่งผลต่อเซลล์ทำให้ระบบอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลวได้
ผลการศึกษาทางวิชาการ
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพรมมิต่อระบบประสาท การกระตุ้นการเรียนรู้ และความจำพบว่า เป็นสารในกลุ่ม triterpenoid saponin ที่ชื่อว่า bacoside ซึ่งชนิดที่มีรายงานการศึกษามากที่สุดได้แก่ bacoside A และ bacoside B ในการศึกษาผลของการรับประทานสารสกัดพรมมิต่อการฟื้นฟูความจำในอาสาสมัครที่มีภาวะสูญเสียความจำเนื่องจากอายุมาก (อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป) โดยให้รับประทานแคปซูลสารสกัดพรมมิขนาดวันละ 300-450 มิลลิกรัม (ประกอบด้วยสารสกัด bacosides อย่างน้อย 40%) พบว่า อาสาสมัครมีทักษะเรียนรู้เกี่ยวกับในการ การทดสอบความจำดีขึ้น และการศึกษาในเด็กที่มีอายุระหว่าง 4-18 ปี โดยรับประทานแคปซูลสารสกัดพรมมิวันละ 1 แคปซูล (ประกอบด้วยสารสกัดพรมมิมาตรฐาน 225 มิลลิกรัม) นาน 4 เดือนพบว่ามีผลช่วยเพิ่มพัฒนาการในการเรียนรู้ของเด็กได้เมื่อเทียบกับเด็กกลุ่มที่ได้รับยาหลอก นอกจากนี้ยังพบว่าการให้เด็กสมาธิสั้นรับประทานสารสกัดพรมมิ ขนาด 50 มิลลิกรัม (ประกอบด้วย bacosides 20%) วันละ 2 ครั้ง มีผลช่วยให้เด็กมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ดีขึ้น และจากการศึกษาความเป็นพิษของพรมมิในอาสาสมัครสุขภาพดี โดยให้รับประทานสารสกัดพรมมิ ขนาด 300 มิลลิกรัม/วัน ติดต่อ 15 วัน และตามด้วยขนาด 450 มิลลิกรัม/วัน อีก 15 วันไม่พบความเป็นพิษแต่อย่างใด แต่มีอาสาสมัครบางรายมีอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร และมีอาการคลื่นไส้
นอกจากนี้มีการศึกษาผลในการช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของพรมมิในเด็กในประเทศอินเดีย โดยทำการทดสอบเด็ก 40 คน ที่มีอายุระหว่าง 6-8 ปี ให้รับประทานพรมมิในรูปแบบไซรัป 1 ช้อนชา แบ่งให้รับประทานวันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3 เดือน (1 ช้อนชา ประกอบด้วยผงพรมมิ 350 มิลลิกรัม) พบว่าเด็กมีความสามารถในการเรียนรู้ได้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก และการศึกษาในเด็กสมาธิสั้น (attention deficit hyperactivity disorder) จำนวน19 คน อายุเฉลี่ย 8.3 ปี โดยให้รับประทานสารสกัดพรมมิมาตรฐาน (ประกอบด้วย bacoside 20%) ขนาด 50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าเด็กมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ดีขึ้น โดยมีความจำตรรกะ การเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ และผลการทดสอบด้านการพูด และภาษา (sentence repetition test) ดีขึ้น
ปริมาณการรับประทานที่แนะนำ :
รับประทานสารสกัดพรมมิขนาดวันละ 300 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 1-2 ครั้ง/วัน
เอกสารอ้างอิง
1. พิชานันท์ ลีแก้ว. บทความวิชาการ “พรมมิ สมุนไพรรักษาอาการความจำเสื่อม”. จุลสารข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2555;29(3):16-19.
2. Hossain H, Howlader SI, Dey SK, Hira A, Ahmed A. Evaluation of analgesic, antidiarrhoeal and cytotoxic activities of ethanolic extract of Bacopa monnieri (L). British Journal of Pharmaceutical Research. 2012;2(3):188-196.
3. Stough C, Downey LA, Lloyd J, Silber B, Redman S, Hutchison C, et al. Examining the nootropic effects of a special extract of Bacopa monniera on human cognitive functioning: 90 day double-blind placebo-controlled randomized trial. Phytother Res 2008; 22(12): 1629-1634.
4. Roodenrys S, Booth D, Bulzomi S, Phipps A, Micallef C, Smoker J. Chronic effects of Brahmi (Bacopa monnieri) on human memory. Neuropsychopharmacology. 2002 Aug;27(2):279-81. doi: 10.1016/S0893-133X(01)00419-5. PMID: 12093601.