สตรีวัยทอง (Menopause)
เช็คอาการเข้าข่าย “วัยทอง” หรือยัง…?
สตรีวัยทอง หรือสตรีวัยหมดประจำเดือน (Menopause) คือ วัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจเกิดจากการขาดฮอร์โมนเพศจากรังไข่ ส่งผลให้ไม่มีประจำเดือนติดต่อกัน 1 ปี โดยพบได้ในช่วงอายุ 45-55 ปี หรือในสตรีที่ได้รับผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายคล้ายๆ คนหมดประจำเดือน
วัยทอง คืออะไร...? 
วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน ในผู้หญิงจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 45-55 ปี โดยเฉลี่ยอายุ 50 ปี เมื่อถึงวัยนี้ รังไข่จะหยุดทำงาน และไม่มีการตกไข่อีกต่อไป ทำให้ไม่มีประจำเดือนและไม่มีการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงจากรังไข่อีก ฮอร์โมนเพศหญิงที่ขาดหายไปนี้มีชื่อว่า เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน จึงทำให้เกิดอาการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจต่างๆ ตามมา อาการของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นรู้จักกันโดยทั่วไปว่า เลือดจะไปลมจะมา“สตรีวัยทอง” ที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง เนื่องจาก รังไข่หยุดทำงาน ซึ่งทำให้สิ้นสุดการมีประจำเดือนอย่างถาวรร่วมด้วยกับการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาตามมา แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
- ➤ ระยะก่อนหมดประจำเดือน (perimenopause) : เป็นระยะเริ่มของการหมดประจำเดือนทำให้สตรีมีประจำเดือนมาผิดปกติ ร่วมกับมีอาการทางร่างกาย เช่น ร้อนวูบวาบ มึนศีรษะ อ่อนเพลีย อารมณ์จะแปรปรวน ซึ่งระยะนี้จะเกิดประมาณ 2-3 ปี
- ➤ ระยะหมดประจำเดือน (menopause) : เป็นระยะที่เริ่มตั้งแต่การหมดประจำเดือนมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี
- ➤ ระยะหลังหมดประจำเดือน (postmenopause) : เป็นระยะที่เริ่มตั้งแต่หลังหมดประจำเดือนมาแล้ว 1 ปี ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ช่องคลอดตีบแคบ กระดูกพรุน และเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคต่างๆได้ง่าย
อาการของสตรีวัยทอง ⚡
➤ ประจำเดือนมาน้อยวันและไม่สม่ำเสมอ
➤ ร้อนวูบวาบตามร่างกายโดยเฉพาะส่วนบนของร่างกาย เหนื่อยง่าย ใจสั่น มีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน บางคนมีอาการหนาวสั่นโดยไม่มีสาเหตุ
➤ ผิวหนังจะบางลง แห้งและเกิดเป็นแผลได้ง่าย มีอาการคันตามผิวหนัง และผิวหนังเกิดผื่นแพ้ง่าย
➤ เส้นผมจะหยาบแห้งและบางลง หลุดร่วงได้ง่าย ไม่ดกดำเป็นเงางาม
➤ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือ ปวดตามข้อและกระดูก
➤ มีอาการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เร็ว เครียดง่าย หงุดหงิดโดยไม่มีสาเหตุ โกรธง่าย ใจน้อย ควบคุมอารมณ์ได้ยาก บางคนหลงลืมง่าย เวียนศีรษะ ซึมเศร้า
➤ นอนหลับยากหรือนอนไม่หลับ
➤ ช่องคลอดขาดความชุ่มชื้น น้ำหล่อลื่นน้อยลง เกิดความเจ็บปวดเวลามีเพศสัมพันธ์
➤ ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้
➤ ภัยเงียบที่พบในวัยหมดประจำเดือน ซึ่งจะเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาว ได้แก่ โรคกระดูกพรุน (ซึ่งการสูญเสียเนื้อกระดูกอย่างมากจนทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน จะทำให้เกิดกระดูกหักง่ายแม้หกล้มเพียงเล็กน้อย) โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง
การเตรียมตัวเข้าสู่วัยทอง 
ไม่ว่าใครก็ต้องเข้าสู่ช่วงวัยทอง การเตรียมตัวรับมือก่อนการเปลี่ยนช่วงวัยก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้ โดยสามารถรับมือง่ายๆได้ ดังนี้
➤ ละเว้นจากพฤติกรรมบั่นทอนสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ การเสพสิ่งเสพติด ของมึนเมา
➤ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบทุกหมู่ แต่ผู้สูงอายควรลดอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เนื่องจาก จะทำให้ไตเสื่อมสภาพ แล้วยังต้องทำงานหนักเกินไป ลดของหวาน ของมัน เนื่องจากทำให้หลอดเลือดเก่าๆ อุดตันได้ง่ายขึ้น เพิ่มอาหารประเภทเส้นใย เช่น ผักและผลไม้ ซึ่งจะช่วยลดการดูดซึมไขมันและน้ำตาล และยังช่วยให้ขับถ่ายอุจจาระได้ดีขึ้น เป็นการลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
➤ เสริมแคลเซียม ซึ่งมีอยู่มากในอาหารประเภทถั่ว งา ผักใบเขียว ปลาเล็ก ปลาน้อย นมและผลิตภัณฑ์ของนมพร่องมันเนย หรือจะรับประทานยาเม็ดแคลเซียมแทนก็ได้ แต่มีข้อพึงระวังในผู้ที่เป็นโรคไต ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ก่อน
➤ ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ควรเป็นการออกกำลังกายที่ทำให้รู้สึกเหนื่อย หัวใจเต้นเร็วขึ้น ข้อสำคัญ คือ ความสม่ำเสมอ
➤ ควรพักผ่อนจากภาระงานประจำ และมีกิจกรรมพื่อคลายเครียดบ้าง
➤ ไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งโดยพื้นฐาน ควรจะได้รับการชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะและอุจจาระ ตรวจเลือด เช็คเบาหวาน และไขมันในเลือด ผู้หญิงควรได้รับการตรวจเต้านมและตรวจภายใน พร้อมกับเช็คมะเร็งปากมดลูก ในรายที่มีโรคประจำตัว
ผลดีของฮอร์โมนทดแทน 
ช่วยรักษาอาการต่างๆ ของภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน อาการที่สำคัญได้แก่ อาการร้อนวูบวาบและลดการสูญเสียมวลกระดูก จึงช่วยป้องกันภาวะกระดูกบางและกระดูกพรุน นอกจากนี้ ยังรักษาอาการช่องคลอดแห้งที่เกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน และช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
ผลเสียของฮอร์โมนทดแทนที่อาจเกิดขึ้น 
อาการข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด คัดตึงเต้านม น้ำหนักเพิ่ม เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ขาบวม เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดดำอุดตัน และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ในปริมาณที่สูง และใช้ติดต่อกันนาน 10-15 ปี ซึ่งการใช้ฮอร์โมนทดแทนไม่ควรใช้ติดต่อนานเกิน 5 ปี
ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมน 
- 1. ผู้ที่มีประวัติมะเร็งเต้านม และมะเร็งมดลูก
- 2. ผู้ที่เป็นโรคตับ
- 3. ผู้ที่เกิดลิ่มเลือดที่เท้า
- 4. ผู้ที่มีประจำเดือนผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ