อุปกรณ์พยุงหลัง (Back Support)
ใช้พยุงหลังบรรเทาอาการปวด ในกรณีที่กระดูกสันหลังเคลื่อนหรือหลังผ่าตัดหลัง เพื่อช่วยทำงานแทนกล้ามเนื้อหลังที่อ่อนแอไปหลังจากการผ่าตัด และทำให้การซ่อมแซมส่วนที่บาดเจ็บเร็วขึ้น เพราะกล้ามเนื้อทำงานน้อยลง แต่การใส่ระยะยาวจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณลำตัวทำงานลดลง ใช้สำหรับช่วยพยุงหลัง เพื่อลดอาการปวดหลังจากการนั่งนาน ยกของหนัก หรือ ยกของผิดวิธี ซึ่งช่วยปรับสรีระ และลดการปวดเมื่อยในการทำกิจกรรมต่างๆ วัสดุผลิตจาก ผ้ายางยืดอีลาสติก (Elastic) อย่างดีที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถระบายอากาศและความอับชื้นได้ดี
อาการปวดหลังยังคงเป็นปัญหาทางสุขภาพหลักของประชากร ส่วนมากพบในกลุ่มประชากรผู้ใหญ ่ถึง 60-80% ส่งผลให้รบกวนค่าใช้จ่ายและเป็นสาเหตุสำคัญในการหยุดงาน
ปวดหลัง แบ่งตามสาเหตุการเกิดได้ 2 ประเภทดังนี้
-
► ปวดหลังแบบ (ปวดหลังแบบเฉพาะเจาะจง) สามารถระบุสาเหตุของอาการปวดหลังได้ชัดเจน
-
► ปวดหลังแบบ (ปวดหลังแบบไม่จำเพาะเจาะจง) ซึ่งไม่สามารถระบุที่มาของอาการปวดหลังได้ พบว่าผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มนี้มากถึง 85% จากจำนวนผู้ป่วยปวดหลังทั้งหมด ปัจจุบันการรักษาเกี่ยวกับอาการปวดหลังนี้ยังคงมีความซับซ้อน เนื่องจากผู้ป่วย มักจะเกิดอาการปวดหลังแบบเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ เพราะไม่สามารถบอกสาเหตุการเกิดโรคที่ชัดเจนได้อาจเกิดจากการผิดท่าขณะเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน การยกของไม่ถูกวิธีหรือยกของหนักเกินกำลัง เป็นต้น
จากพฤติกรรมดังกล่าว จะทำให้โครงสร้างกระดูกสันหลัง ได้แก่ ระบบประสาท ระบบกล้ามเนื้อ และโครงร่างของร่างกาย เกิดการทำงานที่ไม่สมดุลจึงทำให้หลังเกิดการบาดเจ็บได้ง่ายและมีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำๆรบกวนชีวิตประจำวัน
ลักษณะการทำงานและผลของอุปกรณ์พยุงหลัง
อุปกรณ์พยุงหลังมีหลากหลายแบบ ปัจจุบันที่นิยมใช้มีลักษณะเบา มีความยืดหยุ่นในการใช้พยุงสันหลังประกอบไปด้วย แท่งโลหะเหล็กรูปตัว S สองแท่งขนาบอยู่ด้านข้าง เพื่อพยุงส่วนของกระดูกสันหลังระดับเอว ช่วยป้องกันการเคลื่อนไหวที่มากเกินไป และวัสดุยืดหยุ่นซึ่งสามารถยืดให้รัดลำสันหลังได้เป็นตัวยึดให้เสื้อสามารถรัดและพยุงท่าทางให้อยู่ในแนวตรง
อุปกรณ์พยุงหลังมีคุณสมบัติได้ผลใน 2 ด้าน ดังนี้
1. ลดหรือจำกัดการเคลื่อนไหวของกระดูก สันหลัง โดยสามารถลดการเคลื่อนไหวใน
ทิศงอ-เหยียดหลังได้เหมาะกับผู้ที่มีอาการปวด หลังเฉียบพลัน เพื่อลดอาการปวดจากกาเคลื่อนไหวในระยะสั้น
2. เพิ่มความดันภายในช่องท้อง ส่งผลให้แรงกระทำต่อหมอนรองกระดูกสันหลังลดลง
จากการศึกษา พบว่า เสื้อพยุงหลัง มีคุณสมบัติช่วยลดแรงเฉือนได้มากกว่าการลดแรงกดที่เกิด ขึ้นกับหมอนรองกระดูกสันหลัง การก้มและบิดเอว ทำให้เกิดแรงกระทบต่อกล้ามเนื้อที่พยุงแกนกลางลำตัว
ซึ่งท่าทางที่ทำให้เกิดแรงกดและแรงเฉือนต่อหมอนรองกระดูกสันหลังระดับสูงสุด คือ ท่ายก
การเลือกอุปกรณ์พยุงหลัง ( Back support )
การทำงานของอุปกรณ์พยุงหลัง ( Back support ) จะช่วยจำกัดการเคลื่อนไหวของร่างกาย ช่วงเอว หลัง และสะโพกในท่าก้ม ท่าบิดตัว เอี้ยวตัว และควบคุมแผ่นหลังให้อยู่ในท่าที่ถูกต้องไม่โค้งงอ ทำให้หลังเกิดความมั่นคง ลดการทำงานเกร็งตัวหดตัวของกล้ามเนื้อหลังช่วยให้กล้ามเนื้อไม่ต้องทำงานหนัก ช่วยป้องกันและบรรเทาอาการปวดหลัง จากโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท หรือการปวดกล้ามเนื้อตลอดจนเส้นเอ็นบริเวณหลังอีกด้วย
วิธีเลือกอุปกรณ์พยุงหลัง ( Back support )
- ควรเลือกพิจารณาถึง ยางยืดที่ใช้ทำ ว่ามีลํกษณะอย่างไร โดยพิจารณาถึงความหนา ความบางของยางยืด และความกว้างของสายรัด การเลือกวัสดุที่เป็นยางยืดที่มีความหนาและขนาดใหญ่ จะให้ความทนทานและแรงดึงที่ดีกว่ายางยืดเส้นเล็ก และให้ความยืดหยุ่น กระชับบริเวณรอบเอว สะโพก ได้ดีกว่ายางยืดขนาดเล็ก
- ควรพิจารณาคุณภาพของตีนตุ๊กแก (Velcro tape) ควรจะเป็นแบบหนา และมีขนให้เกาะจำนวนมาก เพื่อความทนทาน และยิ่งหนาเท่าไหร่ ก็จะให้การยึดเกาะที่ดี และทนทานขึ้น รวมถึงหลุดยาก สามารถรองรับกิจกรรมหนักๆ ได้หลากหลาย หลายท่านไม่ได้คำนึงถึงจุดนี้ ซึ่งบางครั้งอาจจะซื้อมาใช้แต่ใช้ได้ไม่นานตีนตุ๊กแก ก็ไม่ยึดเกาะ หรือติดได้ไม่กระชับเพราะพื้นที่ติดตีนตุ๊กแกมีน้อย
- วัสดุดามหลัง ในตลาดจะมีวัสดุที่นิยมหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นแผ่นพลาสติก และแผ่นสแตนเลส ขึ้นอยู่กับแต่ละผู้ผลิต และราคาขาย โดยถ้าเป็นแผ่นพลาสติกจะมีราคาถูกกว่าแสตนเลส ข้อดีของแผ่นพลาสติก คือน้ำหนักเบาแต่จะมีความทนทานน้อยกว่าแสตนเลส เมื่อใช้สักระยะก็จะนิ่ม และเสียประสิทธิภาพในการพยุงหลังไปทีละน้อย หลายผู้ผลิตจึงนิยมใส่แผ่นตามหลังเป็น 2 ชั้นเพื่อลดต้นทุนและคงความแข็งไว้ แต่ถ้าเป็นเเบบแสตนเลส มีความทนทานมากกว่าและมีแรงดึงที่ดีกว่า ส่งผลให้ประสิทธิภาพการบล็อคหลังสูงกว่า มีความทนทานมากกว่า ในบางยี่ห้อรับประกันประสิทธิภาพในการพยุงหลัง ถึง 1 ปี
- ตำแหน่งและวัสดุดามหลัง ควรจะมีด้านหลัง 3 จุด และข้างลำตัว 2 จุด เพื่อบล็อกหลังได้อย่างมั่นคง ไม่ย้วยตามการเคลื่อนไหวของร่างกาย ด้านการถักถอ ควรเลือกแผ่นยางยืด ที่เป็นแผ่นใหญ่เต็มผืนจะให้แรงยึดที่ดีกว่าและให้อายุการใช้งานที่ยาวนาน
- วัสดุที่ใช้ผลิตต้องเป็นที่ระบายอากาศได้ดี ไม่อับชื้น และสามารถใช้งานได้สบายตลอดทั้งวัน สายรัดบ่าควรจะสามารถถอดออกได้ เพื่อความสะดวกและไม่เกะกะกรณีไม่ต้องการใช้
- สีมีให้เลือกหลากหลาย แต่ที่นิยมจะมีด้วยกันสามสี คือ สีดำ สีเนื้อ และสีเทา โดยสีดำและสีเนื้อจะได้รับความนิยมสูงสุด ถ้ามองในแง่ความสะอาดและใช้ได้นาน ควรมองหาวัสดุที่เป็นสีดำ
- เลือกขนาดให้เหมาะสมกับรูปร่างของแต่ละคน เพื่อความกระชับพอดี ไม่ตึงไปหรือหย่อนไป
การที่ไม่ใส่เสื้อพยุงหลัง ผลการศึกษาพบว่า จะทำให้เกิดแรงกระทำต่อกล้ามเนื้อหลัง แรงกด และแรงเฉือนที่เกิดขึ้นบนหมอนรองกระดูกสัน หลัง แต่เมื่อใส่เสื้อพยุงหลัง จะสามารถลดแรงกระทำบนกล้ามเนื้อ และแรงกดต่อหมอนรองกระดูกสันหลังได้3.4-7.3% โดยที่ระดับความตึงของการสวมใส่เสื้อพยุงหลังที่แน่นพอดีสามารถลดแรงกระแทกต่อข้อต่อกระดูกสันหลังได้มากกว่าการสวมใส่แบบหลวมๆ
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า เสื้อพยุงหลังหากสวมใส่ให้ถูกวิธีกระชับ จะเกิดประโยชน์ต่อกลุ่มที่จำเป็นต้องยกของหนัก หรืองานที่อยู่ในท่านั่งติดต่อกันนานๆ
วิธีป้องกันอาการปวดหลัง หรือการบาดเจ็บจากการยกของหนักที่ถูกวิธี
1.การยกของหนักด้วยท่วงท่าที่ถูกต้อง โดยยืนให้ชิดกับสิ่งของที่ยก ย่อเข่าให้หลังเป็นแนวตรง แขนแนบชิดลำตัว และอย่าได้ยกของหนักเกินไป
2.การหลีกเลี่ยงการยกของหนักเป็นระยะเวลานานๆ
3.เมื่อรู้สึกว่าปวดหลังหรือบาดเจ็บ ต้องหยุดการทำงานทันที
4.บางครั้งการวอมร่างกายก่อนยกของ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีช่วยให้กล้ามเนื้อยืด
วิธีการซักทำความสะอาด
ซักด้วยน้ำสบู่ที่เป็นด่างอ่อน ๆ และควรซักทันที อย่าแช่ทิ้งไว้ ห้าม ซักในน้ำยาเคมี หรือน้ำยาซักแห้งชนิดต่างๆ ขยี้ส่วนที่สกปรก และไม่ควรบิด เมื่อซักแล้วให้นำขึ้นผึ่งแห้งทันที ในที่ร่ม โดยพาดกับราว 2 เส้น หรือไม้แขวนเสื้อ
ข้อควรระวัง
ผลิตภัณฑ์ ที่มีด้ายยืดผสมอยู่นี้ เมื่อซื้อแล้วควรใช้ทันที ไม่ควรเก็บไว้เป็นเวลานาน และควรเก็บในที่อากาศเย็นไม่อับชื้น ไม่ควรสวมใส่ขณะนอนหลับ หรือใส่เพื่อการลดน้ำหนัก ห้ามสวมใส่ทันทีหากคุณใช้ยาทาแก้ปวดต่าง ๆ เพราะสารเคมีในตัวยามีปฎิกิริยากับตัวเนื้อผ้า ทำให้ยืดง่ายขึ้น ควรสวมใส่เสื้อผ้าก่อนใส่เผือกพยุงเอวทับอีกครั้ง หรือทิ้งช่วงไว้สัก 2 ชั่วโมงก่อนการสวมใส่