อาการของการร้องโคลิก
อาการร้องมักเป็นช่วงอายุ 2-3 สัปดาห์แรก มักมีอาการในช่วงเวลาเดิมๆ ส่วนใหญ่เป็นช่วงเย็นถึงค่ำ ต่างจากการร้องในเวลาอื่นที่ปลอบได้ง่ายและไม่นาน
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดโคลิกในเด็ก...?
สาเหตุของการเกิดโคลิกยังไม่ทราบแน่นอน แต่คิดว่าเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน คือ
- ✿ จากพื้นฐานอารมณ์ของเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กเลี้ยงยาก
- ✿ เด็กกลืนอากาศขณะดูดนมเข้าไปมาก
- ✿ ผู้ดูแลไม่สามารถทำให้เด็กเรอได้เพียงพอ อากาศในท้องจึงก่อให้เด็กเกิดอาการแน่นอึดอัดในท้อง
- ✿ เด็กอยู่ในท่านอนที่ไม่เหมาะสม
- ✿ เด็กกินมากเกินไป หรือน้อยเกินไป
- ✿ ครอบครัวมีความเครียด หรือความวิตกกังวลมาก (ซึ่งอาจตรงกับที่พบอุบัติการณ์โคลิกสูงในครอบครัวที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมสูงเป็นบุตรของพ่อแม่ที่มีอายุมาก ครอบครัวที่มีลูกน้อย และในพ่อแม่ที่มีการศึกษาสูง) พบว่าความเครียดของแม่ตั้งครรภ์มีผลให้เกิดโคลิกในเด็กได้
- ✿ เกิดในเด็กที่มีภาวะ/โรคกรดไหลย้อน
- ✿ เกิดในเด็กที่มีการเคลื่อนตัวของลำไส้ผิดปกติ คือมีการเคลื่อนตัวของลำไส้มากเกินไป
- ✿ เกิดในเด็กที่มีการกินอาหารพวกแป้งมากเกินไป ทำให้ลำไส้ย่อยแป้งไม่หมดจึงเหลือแป้งให้แบคทีเรีย (ในลำไส้) ย่อยแป้งที่เหลือทำให้เกิดแก๊สในลำไส้มาก เด็กจึงแน่นอึดอัดท้อง
- ✿ ในเด็กที่มีการแพ้อาหาร หรือในเด็กที่ได้รับน้ำผลไม้บางอย่าง เช่น น้ำแอปเปิ้ล
- ✿ เด็กที่บิดา มารดา มีปัญหาทางอารมณ์
- ✿ มีการเปลี่ยนแปลงของเชื้อแบคทีเรียในลำไส้เด็ก โดยเฉพาะมีแบคทีเรียบางกลุ่มสัมพัมธ์กับการเกิดอาการโคลิก ซึ่งเมื่อลดแบคทีเรียกลุ่มดังกล่าวอาการโคลิกก็ลดลงได้
วิธีแก้ไขการรักษาร้องโคลิก
ปัจจุบันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวในการรักษาโคลิก เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุแน่นอน แต่จะพยายามลดสาเหตุของการเกิด ได้แก่
- 1. คุณแม่ที่ยังให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดการแพ้อาหารในเด็ก หรืออาหารที่อาจจะก่อให้เกิดอาการ โคลิก เช่น นมวัว หอม กระเทียม พริก เครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม
- 2. พยายามอย่าเครียด ต้องเข้าใจว่าโคลิกเป็นอาการที่เกิดชั่วคราวและจะหายได้เอง
- 3. เด็กที่ไม่ได้ดื่มนมแม่ อาจเลือกนมที่แพ้ได้น้อย (Low-allergen milk)
- 4. เวลาเด็กดื่มนมหรือน้ำจากขวด ต้องยกขวดให้สูง จนนมหรือน้ำเต็มบริเวณจุกขวดไม่มีอากาศแทรก
- 5. หลังให้นม ควรจับให้เด็กนั่ง หรืออุ้มพาดบ่าให้เรอ
ข้อระวังในการดูแลในการ ร้องโคลิก
ถึงแม้ว่าการรักษาโคลิกค่อนข้างยาก เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนและอาจเกิดจากหลายปัจจัย แต่ข้อสำคัญ คือ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องทำใจ และต้องใช้เวลา อดทนในการดูแลลูกน้อย ทั้งนี้ขณะที่เด็กร้อง สิ่งที่ผู้ปกครองสามารถทำได้เพื่อบรรเทาอาการ มีดังนี้
จดจำเวลาที่ลูกเริ่มร้อง ฉวยจังหวะก่อนถึงเวลานั้น อุ้มหนูน้อยในท่าพาดบ่า ท่านอนคว่ำบนท่อนแขน หรือกอดกระชับแนบอกจนได้ยินเสียงหัวใจแม่เต้น แล้วพาออกไปนั่งรถ เดินเล่นรอบบ้าน หรือนั่งบนเก้าอี้โยกเบาๆ
✿ อย่าให้เด็กอยู่ในที่ที่มีสิ่งกระตุ้น เช่น เสียงดัง แสงรบกวน
✿ จับเด็กอุ้มพาดบ่า เด็กจะรู้สึกสบายขึ้น และช่วยดันลมในท้องออกมาด้วย
✿ นวดตัวเด็ก หรือเขย่าเบาๆไปมา ลูบหลังให้
✿ เปิดเพลงเบาๆให้ฟัง เพื่อจะให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย
✿ อย่าปล่อยให้เด็กร้องนานโดยไม่เข้าไปดูแล
✿ หาคนช่วยดูเด็ก เพื่อแม่จะได้พักบ้าง เช่น คุณพ่อช่วย หรือพี่เลี้ยงมาสลับ เพื่อลดความเครียดของแม่
✿ ดูว่าเด็กร้องเพราะหิวนมหรือไม่ เพราะเด็กที่หิวนมก็จะร้องกวนพอได้กินนมจะหยุดร้อง
✿ การห่อหุ้มตัวทารกด้วยผ้าในลักษณะเลียนแบบการตั้งครรภ์ จะช่วยให้เด็กๆ รับรู้ถึงถึงความอบอุ่น ปลอดภัย
✿ คุณแม่ต้องสังเกตตัวเองด้วยว่าการดื่มกาแฟ น้ำอัดลม อาหารรสเผ็ดจัด อาจส่งผ่านไปทางน้ำนมสู่ลูก ลองงดอาหารเหล่านั้นดูราว 1 สัปดาห์ และสังเกตว่าลูกยังมีอาการร้องโคลิกอยู่หรือไม่
✿ จับนั่งหรือทำให้เรอ บางครั้งท่าป้อนนม หรือจุกนมที่ไม่เหมาะสม ก็ทำให้เกิดลมในท้องของทารกได้ แม้ว่าการมีลมในท้องมากเกินไปจะไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงของโคลิก แต่ก็จะทำให้เด็กๆ ร้องไห้เพราะอึดอัดนะคะ
เมื่อไหร่ที่ควรพิจารณานำเด็กไปพบแพทย์
✿ เด็กมีอาการร้องมาก ร้องนานในครั้งแรกซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาอาการ หรือความเจ็บป่วยอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการคล้ายโคลิก ซึ่งแพทย์จะซักประวัติอาการ ตรวจร่างกาย หรือหาวิธีการวินิจฉัยโรค อื่นๆ เพื่อตัดโรคที่ทำให้เกิดอาการคล้ายโคลิกออกไป เพื่อให้เด็กได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
✿ เด็กมีการร้องมาก ร้องเป็นพักๆ หรือมีอาการผิดปกติอื่น เช่น มีไข้ ตัวร้อน อาเจียน อุจจาระผิดปกติ เช่น อุจจาระมีสีแดงเหมือนแยม (Currant jelly stool) ซึ่งอาจเป็นอาการของลำไส้กลืนกัน การรีบไปพบแพทย์โดยเฉพาะเมื่อเริ่มต้นมีอาการจะทำให้การรักษาง่ายขึ้น อาจไม่ต้องผ่าตัด
✿ เด็กมีอาการร้องเสียงแหบ มีอาการหายใจผิดปกติ อาจต้องระวังเรื่องการสำลักสิ่งแปลกปลอม ต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที